ภูมิศาสตร์บนสนามทุ่นระเบิด

นี่เป็นบทความที่ผมเคยเขียนไว้เมื่อปี 2017 เกี่ยวกับวันทุ่นระเบิดสากล

วันที่ 4 เมษายนอาจเป็นวันที่ดูไม่มีอะไรพิเศษนักสำหรับสังคมไทยเรา แต่สำหรับในทางสากลแล้ว วันนี้เป็นวันที่ถูกสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติกำหนดให้เป็นวันทุ่นระเบิดสากล (International Day of Mine Awareness and Assistance of Mine Action)

ภาพการทำลายวัตถุระเบิด

“ทุ่นระเบิด” อาวุธชนิดหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ในสงคราม แบ่งออกเป็นสองชนิดใหญ่ ๆ ตามการใช้งาน คือ ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (anti-personel, AP) และทุ่นระเบิดทำลายยานพาหนะ (anti-tank, AT) สำหรับทุ่นระเบิดสังหารบุคคลยังสามารถแบ่งย่อยลงไปได้อีกตามวัตถุประสงค์ใน การใช้งาน เช่น ทุ่นระเบิดที่ต้องการทำลายเฉพาะคนคนเดียวที่เข้าไปเหยียบทุ่นระเบิด โดยคนที่อยู่ใกล้หรือในบริเวณไม่ได้รับบาดเจ็บด้วย และทุ่นระเบิดที่ต้องการทำลายบุคคลเป็นกลุ่ม ซึ่งมีทั้งชนิดสาดเศษเหล็กที่แตกออกเป็นสะเก็ดไปรอบตัว และแบบบังคับทิศทาง

ทุ่นระเบิดทุกชนิดจะมีโครงสร้างหลักเหมือนกัน ตรงที่มีดินระเบิดหลักจำนวนหนึ่งมากน้อยตามวัตถุประสงค์ในการผลิต เพื่อใช้ทำลายเป้าหมายที่แตกต่างกันออกไป นอกจากดินระเบิดหลักแล้ว ยังมีชนวนที่ทำหน้าที่ในการจุดระเบิด ในชนวนนั้นจะมีกลไกการจุดระเบิดเพื่อให้เกิดประกายไฟจุดเชื้อปะทุที่ประกอบ อยู่ในชนวน ซึ่งเชื้อปะทุนั้นจะบรรจุดินระเบิดที่มีอำนาจในการทำลายสูงกว่าดินระเบิด หลัก แต่จะมีจำนวนดินระเบิดน้อยกว่า เมื่อชนวนถูกทำให้ระเบิดด้วยวิธีใด ๆ ตามการออกแบบและการใช้งาน ไม่ว่าจะด้วยการกด แรงดึง การเอียง สั่นสะเทือน หรือกระแทก แรงระเบิดจากชนวนจะทำให้ดินระเบิดหลักระเบิดเกิดปฏิกิริยาเคมีต่อเนื่องใน เวลาสั้นที่สุด ทำให้อากาศในบริเวณนั้นเกิดแรงอัดอย่างรุนแรง เพื่อทำลายเป้าหมาย หรือทำให้เปลือกของทุ่นระเบิดแตกเป็นสะเก็ดพุ่งออกรอบบริเวณหรือบังคับทิศ ทาง ใกล้ ไกล ตามการออกแบบของทุ่นระเบิดแต่ละชนิด

สิ่งที่หลายๆคนอาจจะไม่ทราบคือแม้แต่ในประเทศไทยเองก็มีพื้นที่ซึ่งได้ถูกปนเปื้อนโดยทุ่นระเบิดหลงเหลืออยู่ และยังคงมีปฏิบัติการด้านทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด

แผนที่ประเทศที่มีการปนเปื้อนด้วยทุ่นระเบิดปี 2016

ปฏิบัติการด้านทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม (Humanitarian Mine Action) คือการปฏิบัติการเพื่อจัดการกับพื้นที่ซึ่งปนเปื้อนด้วยทุ่นระเบิดซึ่งถูกนำมาใช้ระหว่างความขัดแย้งต่างๆซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลก โดยปฏิบัติการนี้ได้เริ่มต้นขึ้นหลังจากประเทศไทยมีการลงนามในอนุสัญญาออตตาวาในเวทีโลก ซึ่งมีเนื้อหาว่าด้วยการ “ห้ามใช้ สะสม ผลิต โอน และทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลให้หมดจากประเทศ”

ซึ่งในจุดนี้ความรู้ด้านภูมิศาสตร์ได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในปฏิบัติการด้านทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมเพื่อทำให้การสำรวจ วิเคราะห์ วางแผนและจัดการพื้นที่ซึ่งปนเปื้อนด้วยทุ่นระเบิดมีประสิทธิภาพ เป็นระบบและชัดเจน

ในการปฏิบัติงานด้านทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมนั้น แต่เดิมจะใช้รูปแบบที่เรียกว่า การกวาดล้าง (Clearance) ซึ่งจะเป็นการตรวจสอบพื้นที่ทุ่นระเบิดทีละตารางเมตรไปเรื่อยๆ จนกว่าจะครบทุกตารางเมตร ร่วมกับเทคนิคด้านแผนที่เข็มทิศแบบเก่าซึ่งใช้ต้นทุนในการปฏิบัติการที่สูงมาก ซึ่งในยุคถัดมาจึงได้มีการปรับวิธีการสำรวจให้เป็นแบบแผน และมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เรียกว่า การปลดปล่อยพื้นที่ (Land Release) ซึ่งจะมีการนำเอาเทคนิคด้าน GIS, PhotogrammetryและGeo Database มาประยุกต์ใช้ร่วมกับการสำรวจและหาข่าวสารเพื่อปรับแก้ขอบเขตของพื้นที่ปนเปื้อนด้วยทุ่นระเบิดให้มีความชัดเจนและลดการสำรวจเสียเปล่าที่อาจเกิดขึ้นรวมไปถึงวิเคราะห์ในเชิงภาพรวมระดับประเทศ

ทีมปฏิบัติงานภาคสนาม งานเก็บกู้ทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม องค์การความช่วยเหลือแห่งประประชาชนชาวนอร์เวย์ (ประเทศไทย) 2015

ปฏิบัติการด้านทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมในประเทศไทยนั้น โดยทางการแล้วอยู่ในความควบคุมดูแลของ “ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (ศทช.)” และนอกจากนี้เรายังได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรจากทั้งในและต่างประเทศหลายอีกหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็น สมาคมผู้เก็บกู้ทุ่นระเบิดแห่งประเทศไทย (TDA), องค์การความช่วยเหลือแห่งประชาชนชาวนอร์เวย์ (NPA), มูลนิธิถนนแห่งสันติภาพ (PRO) และHDO Thailandซึ่งทำงานด้านช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิด ซึ่งมูลนิธิเหล่านี้รับเงินบริจาคนะครับ ใครสนใจทำบุญก็สามารถติดต่อdonateโดยตรงได้

ตัวผมเองเคยมีโอกาสได้ปฏิบัติงานร่วมกับองค์กรเหล่านี้อยู่ระยะหนึ่ง ได้เข้าไปเรียนรู้และรับทราบข้อเท็จจริง ข้อจำกัด และความเสี่ยงในการปฏิบัติงานภาคสนาม จึงขอใช้บทความสั้นๆนี้เป็นกำลังใจให้พี่น้อง เจ้าหน้าที่ทั้งภาครัฐและเอกชนทุกท่านที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในภาคสนาม และถือโอกาสเผยแพร่เรื่องราวของงานด้านนี้ให้สังคมได้รับรู้เพิ่มขึ้นสักนิดครับ

แหล่งข้อมูลพิ่มเติม

เว็บไซต์ HDO Thailand ของศาสตราจารย์ ดร.สุชาต จันทวงศ์

นิตยสารสารคดีฉบับปี 2544

*รูปแผนที่แนวทุ่นระเบิดและรูประเบิดนำมาจากอินเตอร์เน็ตเนื่องจากรูปปฏิบัติงานจริงในประเทศไทยอาจนับเป็นข้อมูลควบคุมการเผยแพร่ทางทหารและตามกฏปฏิบัติของบางองค์กร

--

--